ตรวจอาการ รังแค (Dandruff/Seborrhea/Pityriasis capitis)รังแค หมายถึง เกล็ดสีขาวบนหนังศีรษะ ซึ่งจะหลุดร่วงเมื่อแปรงหรือหวีผม เป็นสิ่งที่พบได้ในคนกว่าร้อยละ 50 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นมากในช่วงอายุประมาณ 20 ปี
การมีขี้รังแคมากไม่ถือว่าเป็นโรค และไม่ทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นผมหรือการอักเสบของหนังศีรษะแต่อย่างใด
สาเหตุ
เกล็ดรังแคเกิดจากหนังศีรษะชั้นบนสุด (ชั้นขี้ไคล) ที่ตายแล้วและหลุดออกมาตามธรรมชาติ ผมบนศีรษะอาจจะรบกวนกระบวนการหลุดลอกของชั้นขี้ไคล ทำให้มีเกล็ดหรือขุยเกิดขึ้น เนื่องจากภาวะนี้พบมากในวัยรุ่น จึงเชื่อว่าอาจเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนแอนโดรเจนและการทำงานของต่อมไขมัน และอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีรังแคมากจะมีปริมาณของเชื้อรามาลัสซีเซียเฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) มากกว่าคนปกติ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นสาเหตุของการเกิดรังแคได้
อาการ
เป็นเกล็ดหรือขุยสีขาวหรือเทาเงิน ขนาดเล็ก ๆ อาจเป็นขุยละเอียด หรือเป็นแผ่น อาจเป็นเพียงแห่งเดียวหรือหลายแห่ง หรืออาจเป็นทั้งหนังศีรษะก็ได้ เกล็ดรังแคจะติดค่อนข้างแน่นบนหนังศีรษะ และจะหลุดร่วงก็ต่อเมื่อแปรงหรือหวีผม หรือเมื่อถูกลมพัด
ความรุนแรงของรังแคจะแปรผันไม่แน่นอนในแต่ละช่วง โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากทำให้รำคาญและเสียบุคลิกภาพ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะแนะนำให้สระผมด้วยแชมพูที่มีตัวยารักษารังแค เช่น ซีลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide), ซิงค์ไพริไทโอน (zinc pyrithione), น้ำมันดิน (coal tar เช่น ทาร์แชมพู) ใช้สระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ควรสระทิ้งไว้นาน 5-15 นาที แล้วค่อยล้างออก นอกจากนี้อาจใช้แชมพูคีโตโคนาโซล ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา สระผมก็ได้ผลเช่นกัน
ถ้าได้ผล ควรใช้แชมพูดังกล่าวไปเรื่อย ๆ หากหยุดใช้อาจกลับมีขี้รังแคได้อีก
ในรายที่ใช้แชมพูดังกล่าว 2 สัปดาห์แล้วยังไม่ได้ผล หรือหนังศีรษะมีลักษณะอักเสบ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ จะทำการตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติม
การดูแลตนเอง
หากมีรังแคมาก ให้สระผมด้วยแชมพูที่มีตัวยารักษารังแค เช่น ซีลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide), ซิงค์ไพริไทโอน (zinc pyrithione), น้ำมันดิน (coal tar เช่น ทาร์แชมพู) ใช้สระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ควรสระทิ้งไว้นาน 5-15 นาที แล้วค่อยล้างออก
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าใช้แชมพูรักษารังแคแล้วไม่ได้ผล หรือสงสัยเป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค (เซ็บเดิร์ม) หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ
การป้องกัน
หมั่นสระผมด้วยแชมพูที่มีตัวยารักษารังแคเป็นประจำ
ข้อแนะนำ
ผู้ที่มีอาการรังแคที่ศีรษะที่เป็นเรื้อรัง หรือเป็นมากกว่าปกติ อาจเป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค หรืออาการแรกเริ่มของโรคโซริอาซิสก็ได้ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป