Doctor At Home: เนื้องอกในสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทเนื้องอกในระบบประสาท แค่ได้ยินชื่อก็น่ากลัวแล้ว หลายคนมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคนี้ ศูนย์ศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลนวเวช จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคนี้นี้ให้ได้ทราบกัน
โดยปกติแล้วเนื้องอกในระบบประสาท สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับเนื้องอกสมองได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเนื้องอก มะเร็ง การได้รับสารเคมีบางชนิด, การฉายรังสี เป็นต้น
เนื้องอกในระบบประสาทสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
เนื้องอกของสมองและไขสันหลัง ซึ่งแบ่งออกเป็นเนื้องอกชนิดดี และเนื้องอกชนิดไม่ดี หรือมะเร็งในระบบประสาท หรือมะเร็งสมองและไขสันหลังนั่นเอง
เนื้องอกชนิดมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด เต้านม อย่างที่ทราบกันดีว่า ในกรณีนี้คือเป็นลักษณะของการแพร่กระจายของมะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ในระยะท้ายๆ แล้วพบได้ทั้งที่สมอง ไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง
แค่ปวดศีรษะธรรมดาหรือปวดเพราะเนื้องอกในสมอง
อาการที่พบได้ของผู้ป่วยเนื้องอกสมอง ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ซึ่งแน่นอนว่าปวดศีรษะนั้นมีหลายแบบ แต่อาการปวดที่จะบอกว่าไม่ใช่แค่ปวดศีรษะแบบทั่วๆ ไป เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือปวดศีรษะร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการชาบริเวณแขน ขา มีอาการอ่อนแรง ชัก ถ้ากรณีที่เป็นไม่มาก ไม่ได้ตรวจเพิ่มอย่างละเอียด อีกทั้งไม่ได้ตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาท จะทำให้ไม่สามารถพบความผิดปกติ ซึ่งจะได้รับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยา
สัญญาณที่บ่งชี้ว่าต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
ปวดศีรษะบ่อยๆ และปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆรับประทานยาแล้วอาการปวดไม่ลดลง
แขน ขา ชาหรืออ่อนแรง
พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว
มีอาการชัก โดยเฉพาะชักครั้งแรกในผู้สูงอายุ
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด หากมีข้อสงสัยจะส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการตรวจสมอง โดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูเนื้องอกและรายละเอียดโดยรอบอย่างชัดเจน เมื่อทราบรายละเอียดต่างๆ จะมีส่วนช่วยให้แพทย์สามารถทราบในเบื้องต้นว่าเนื้องอกเป็นชนิดใด เพื่อเตรียมวางแผนการรักษา แต่ผลการวินิจฉัยที่ชัดเจนต้องพิจารณาจากการตัดชิ้นเนื้อ และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
อาการที่สงสัยปวดหลังจากเนื้องอกไขสันหลัง
อาการปวดหลังเป็นเรื้อรัง นอนพักไม่หาย ปวดกลางคืน
อาการของการกดทับไขสันหลัง เส้นประสาท ได้แก่ อาการชา ปวดร้าวไปแขนหรือขา อาการอ่อนแรง ปัสสาวะบ่อยกลั้นไม่ได้
มีอาการอื่นร่วม เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
มีประวัติโรคมะเร็ง
กระดูกสันหลังพรุนยุบง่าย
การรักษาเนื้องอกในระบบประสาทสามารถทำได้อย่างไร
1. การผ่าตัดเนื้องอก มีวัตถุประสงค์หลักมุ่งเน้นตัดเนื้องอกออกให้ได้มากที่สุดและไม่เกิดผลแทรกซ้อน อีกทั้งยังช่วยลดอาการสมองบวม ลดอาการชัก ปัจจุบันการผ่าตัดจะเน้นผ่าตัดแผลขนาดไม่ใหญ่ โดยนำเครื่องนำวิถี (Navigation) มาใช้ ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากขึ้น ทราบพิกัดของการผ่าตัดตลอดเวลา และช่วยให้เกิดการบาดเจ็บกับสมองน้อยที่สุด มีการใช้เครื่องตรวจจับสัญญาณระบบประสาทระหว่างการผ่าตัด (Intraoperative neuromonitoring) นอกจากนี้ยังมีการใช้กล้องผ่าตัดกำลังขยายสูง (Microscope) เพื่อช่วยให้ประสาทศัลยแพทย์สามารถมองเห็นจุดเล็กๆ ในสมองส่วนที่อยู่ลึก หรือในตำแหน่งที่มีอันตรายได้ดีขึ้น ทำให้ผ่าตัดได้ปลอดภัยมากขึ้น
2. การฉายรังสีรักษา
3. การให้ยาเคมีบำบัด
4. การรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ได้แก่ การฉีดซีเมนต์ลดปวดจากมะเร็งกระดูกสันหลัง การดามเหล็กกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก
ในการรักษาคนไข้แต่ละราย แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษา และเลือกใช้อุปกรณ์การผ่าตัดตามความเหมาะสม ซึ่งจะพิจารณาจากลักษณะของเนื้องอก ตำแหน่ง และขนาด ซึ่งบางรายอาจใช้การรักษาวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือบางรายอาจใช้ร่วมกันทั้ง 3 วิธี ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
การผ่าตัดปลอดภัยจริงหรือ?
เนื่องจากสมัยก่อนนั้นเชื่อกันว่าสมองของคนเรามีการทำหน้าที่เป็นตำแหน่งเฉพาะและสมองจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้วเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นการผ่าตัดเนื้องอกสมองในบริเวณที่สำคัญจะทำให้มีโอกาสเกิดความพิการได้อย่างมาก แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีหลักฐานว่าสมองของคนเรานั้นสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยการเปลี่ยนการเชื่อมต่อของบริเวณต่างๆของสมองได้ ดังนั้นบริเวณที่จะมีตำแหน่งตายตัวจะมีอยู่เพียงไม่กี่ตำแหน่งเท่านั้น เช่น การขยับร่างกายแบบง่ายๆ การมองเห็นแสง การได้ยินเสียง เป็นต้น
แต่หากเป็นการทำงานที่ซับซ้อนขึ้นมาของสมอง เช่น การใช้เครื่องมือต่างๆ การอ่านหนังสือ ภาษา หรือแม้แต่อารมณ์ความรู้สึก การทำงานที่ซับซ้อนเหล่านี้ของสมองจะมีลักษณะเป็นวงจร ที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่ชัดเจน ซึ่งการที่จะทดสอบว่าบริเวณใดของสมองที่สำคัญกับหน้าที่นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการทดสอบเพื่อหาตำแหน่งจากการทำผ่าตัดโดยตรง โดยการใช้ขั้วไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองบริเวณที่ต้องการทดสอบ กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยเข้าไปจะรบกวนการทำงานของสมองบริเวณนั้นทำให้ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่นั้นๆได้ บ่งบอกว่าเราไม่สามารถตัดเนื้อสมองบริเวณนั้นออกได้นั่นเองแม้ว่าจะมีเนื้องอกปนอยู่ก็ตาม
สำหรับในปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่า การผ่าตัดมีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ด้วยความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ของประสาทศัลยแพทย์และวิทยาการด้านการตรวจรักษาที่ก้าวล้ำทำให้ผลของการผ่าตัดที่ได้รับแตกต่างจากในอดีต ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดใช้วิธีเปิดแผลไม่ใหญ่ ผลแทรกซ้อนจึงน้อย การบาดเจ็บของสมองลดลง การเสียเลือดก็น้อย พักฟื้นระยะสั้น อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ใช้ผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ เข้าถึงจุดที่สำคัญและเป็นอันตรายได้เป็นอย่างดี
การใช้เครื่องมือนำร่องและวางแผนการผ่าตัดสมอง (Image Guided Surgical System) เป็นเครื่องมือที่ช่วยวางแผนก่อนและระหว่างการผ่าตัด สามารถเชื่อมโยงข้อมูลภาพถ่ายสมองระบบประสาทให้เห็นภาพจริงขณะทำการผ่าตัด ทำให้ผ่าตัดได้แม่นยำ แผลเล็ก กำหนดทิศทางและนำร่องระหว่างผ่าตัด ก่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด
เนื้องอกชนิดดีสามารถกลายเป็นเนื้อร้ายได้หรือไม่ ?
ถ้าตรวจพบเนื้องอกชนิดดี แต่หากปล่อยไว้ไม่รับการรักษาอย่างถูกวิธี นานวันจากเนื้องอกชนิดดีย่อมมีโอกาสเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งสมองได้เช่นเดียวกัน ความสำคัญในจุดนี้จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์ทุกคนจะบอกคนไข้เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่ตรวจพบเนื้องอกสมอง ไขสันหลังและระบบประสาท ต้องรีบทำการรักษาทันที เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคุณเอง