บริหารจัดการอาคาร: วิธีเช็กน้ำรั่วซึมจากท่อประปาด้วยตนเอง น้ำรั่วซึมเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องดูแล เพราะไม่เพียงส่งผลให้ตัวเลขบิลค่าน้ำสูงขึ้น แต่ยังทำให้บ้านเกิดน้ำนองหรือท่วมขังที่ส่งผลให้บ้านเกิดเชื้อราและผุพังได้เร็วขึ้น โดยหนึ่งในปัญหาน้ำรั่วซึมที่มักพบบ่อยนั้นมาจากท่อประปา มาเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้ได้ด้วยการรู้วิธีตรวจสอบท่อประปารั่วกัน
สังเกต 6 สัญญาณน้ำรั่วซึม
บิลค่าน้ำเพิ่มสูงขึ้นทั้งที่ไม่ได้ใช้น้ำมากกว่าปกติ เมื่อเกิดน้ำรั่วซึม ย่อมเกิดน้ำไหลอยู่ตลอด ดังนั้นตัวเลขแสดงปริมาณน้ำประปาจะยังคงเดินอยู่แม้จะไม่ได้มีการใช้น้ำ
มีน้ำเปียกที่พื้นอยู่เสมอหรือมีตะไคร่น้ำขึ้น เมื่อมีจุดแตกรั่ว น้ำจะไหลหรือซึมออกมาที่พื้นอยู่เสมอ และยิ่งนานวันความชื้นก็จะทำให้เกิดตะไคร่จับได้
มีน้ำเปียกหรือหยดจากเพดานหรือผนังอยู่เสมอ เช่นกัน น้ำจะไหลออกจากจุดรั่ว ทำให้เพดานเปียกและหยดออกมาตามช่องระหว่างฝ้าได้
น้ำจากก๊อกน้ำไหลอ่อนลง เมื่อเกิดท่อประปาแตกในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดที่แตกมีขนาดใหญ่ ก็ยิ่งทำให้น้ำรั่วไหลออกมาก ปริมาณน้ำที่จะส่งไปถึงก๊อกน้ำก็จะน้อยลง น้ำประปาจึงไหลอ่อนลง
มีเสียงเครื่องปั๊มน้ำทำงานแม้จะไม่ได้ใช้น้ำ น้ำที่รั่วไหลออก จะทำให้น้ำในถังพักน้ำของเครื่องปั๊มน้ำน้อยลง เครื่องปั๊มน้ำจึงต้องปั๊มน้ำเข้ามาเก็บให้เต็ม ยิ่งถ้ารั่วมาก ก็จะยิ่งมีปริมาณน้ำไหลทิ้งมากขึ้น เราจะก็จะได้ยินเสียงเครื่องปั๊มน้ำทำงานถี่ขึ้น
มีจุดที่พื้นทรุดตัวต่ำกว่าบริเวณอื่น เมื่อเกิดน้ำรั่วซึมเป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้ดินในบริเวณโดยรอบเปียกและเกิดการอ่อนตัวจนส่งผลให้พื้นบริเวณนั้นทรุดตัวลงได้
เช็กว่าน้ำรั่วซึมจากท่อประปาใช่หรือไม่
ปิดก๊อกน้ำทั้งหมดและดูที่มิเตอร์หรือมาตรวัดน้ำ หากตัวเลขที่หน้าปัดมิเตอร์น้ำยังคงเดินอยู่ แปลว่า มีน้ำรั่วซึมในบ้าน
ตรวจดูก๊อกน้ำ ฝักบัว เครื่องซักผ้า และเครื่องใช้ที่ต่อท่อกับน้ำ เพราะน้ำรั่วนั้นอาจเกิดจากส่วนนี้ได้ ส่วนวิธีแก้ไขนั้น ถ้ารั่วที่ก๊อกน้ำหรือฝักบัว ให้เปลี่ยนก๊อกน้ำหรือฝักบัว แต่ถ้าเป็นเครื่องซักผ้าและเครื่องใช้อื่น ๆ ให้เรียกช่างเฉพาะทางมาซ่อมแซม
สำหรับชักโครก ให้ตรวจดูโดยใส่สีย้อมผ้าลงในถังพักน้ำ ถ้าพบสีไหลลงในชักโครก แสดงว่า มีน้ำรั่วเกิดขึ้น
ถ้าตรวจสอบดูแล้วไม่พบจุดรั่ว สันนิษฐานได้ว่า สาเหตุที่มีน้ำประปารั่วในบ้านนั้นน่าจะเกิดจากท่อประปาร้าวหรือแตก และให้เช็กหาจุดรั่วที่ท่อประปา
เช็กหาจุดรั่วตามบริเวณท่อประปา
ให้เช็กท่อประปารั่วในบ้านทีละจุด เพื่อความมั่นใจว่าจะพบจุดรั่วทั้งหมด โดยใช้วิธีปิดวาล์วเช็กทีละส่วนของบ้าน โดยเริ่มจากการปิดวาล์วจ่ายน้ำที่ชั้นบนก่อน แล้วค่อยสลับไปเปิดวาล์วจ่ายน้ำชั้นล่าง ถ้าแต่ละชั้นมีวาล์วจ่ายน้ำหลายจุด ให้ปิดทั้งหมดและเปิดวาล์วทีละจุด
วิธีนี้จะช่วยให้ระบุหาจุดรั่วได้ง่ายขึ้น และเมื่อเปิดเช็กทีละวาล์ว ให้ดูที่มิเตอร์ว่า ตัวเลขวัดปริมาณการใช้น้ำยังคงเดินอยู่หรือไม่ ถ้ายังเดินอยู่ ให้เดินหาจุดรั่วของท่อประปาบนพื้น แต่สำหรับท่อประปาที่ซ่อนใต้พื้น ผนัง และเพดานนั้น ให้ตรวจสอบตามวิธีด้านล่าง
เช็กท่อประปารั่วใต้ดิน
ให้เดินตรวจดูทั้งบริเวณภายนอกและภายในบ้านว่า มีน้ำรั่วซึมหรือขังที่พื้นบ้านและสนามหญ้าอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ ถ้ามี แสดงว่า อาจมีท่อประปารั่วใต้พื้นบ้าน ซึ่งถ้าจริง จะต้องตามช่างประปามาตรวจสอบและซ่อมแซมจุดรั่วโดยอาจถึงขั้นต้องรื้อพื้นได้
เช็กท่อประปารั่วในผนัง
ให้เดินตรวจดูว่า มีจุดน้ำหยดหรือซึมเปียกที่บริเวณกำแพงหรือบริเวณพื้นที่ติดกับกำแพงหรือไม่ ถ้ามี อาจเป็นไปได้ว่าท่อประปาที่พื้นหรือผนังรั่ว ซึ่งหากท่อประปาที่ผนังเป็นแบบซ่อน อาจหาจุดรั่วซึมที่ชัดเจนเองได้ยากและต้องให้ช่างผู้ชำนาญช่วยดูแลและซ่อมแซม เพราะต้องใช้ความชำนาญและอุปกรณ์ช่วย
เช็กท่อประปารั่วในเพดาน
มีขั้นตอนดังนี้
เปิดช่องเซอร์วิสหรือช่องที่สำหรับเปิดเข้าไปในเพดาน แต่ถ้าเป็นบ้านเก่า อาจไม่มีช่องนี้ จะต้องให้ช่างประปารื้อฝ้าเพดานออก เพื่อตรวจหาจุดที่น้ำประปารั่ว
ตรวจสอบจุดท่อประปารั่วตามข้อต่อและสายท่อได้ไม่ยาก เพียงนำทิชชู่ไปพันบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดรั่ว ซึ่งมักเป็นบริเวณข้อต่อ และลองใช้น้ำ เช่น เปิดฝักบัว เปิดก๊อกน้ำ หรือกดชักโครก แล้วปล่อยไว้ 15-30 นาที ถ้ามีน้ำรั่วซึม ทิชชู่ก็จะเปียก
การตรวจสอบการรั่วไหลเป็นไปได้ง่ายหากวางท่อประปาแบบเดินลอย คือ วางบนพื้นดิน อย่างไรก็ตาม บ้านส่วนใหญ่นิยมซ่อนท่อประปาไว้ในผนังและพื้นดินเพื่อความสวยงาม จึงไม่ง่ายต่อการตรวจสอบและซ่อมแซม แต่เราก็สามารถตรวจสอบหาจุดน้ำรั่วเบื้องต้นเองได้ไม่ยาก
โดยดูแปลนการวางท่อน้ำประปา แล้วเช็กตามตำแหน่งจุดวางท่อ ข้อต่อ และวาล์ว สำหรับใครที่กำลังจะซื้อบ้านใหม่หรือรีโนเวทบ้าน มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ การเลือกซื้อบ้าน และการปรับปรุงบ้านเพื่อบ้านที่น่าอยู่และห่างไกลปัญหาน้ำรั่ว